มวยไชยา เป็นศิลปะมวยไทยประจำถิ่นอำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีชื่อเสียงมากสมัยรัชกาลที่ 5 – 6 จนมีนักมวยจากไชยาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหมื่นมวยมีชื่อเมื่อย้ายตัวเมืองไชยาจากตำบลพุมเรียงไปที่ตำบลไชยาดังในปัจจุบัน สถานที่ใหม่ที่ใช้จัดมวยคือสนามมวยเวทีพระบรมธาตุไชยา ในยุคนี้มีนักมวยเกิดขึ้นหลายคณะ

ประวัติมวยไชยา

ภาพ:Muay2.jpg

นักมวยไชยาที่สร้างชื่อเสียงมีอยู่มากมาย ที่สำคัญที่สุดเห็นจะเป็น “นายปล่อง จำนงทอง” ลูกศิษย์มวยคนสำคัญของพระยาวจีสัตยารักษ์ นับเป็นนักมวยที่สร้างความภูมิใจแก่คนไชยาอย่างมาก เนื่องจากนายปล่องได้มีโอกาสไปแสดงชั้นเชิงการชกต่อหน้าพระที่นั่ง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ในงานเมรุ กรมขุนเมรุ พงศ์ศิริพัฒน์ ณ ทุ่งพระสุเมรุ ซึ่งนายปล่องก็สร้างชื่อกระฉ่อนด้วยการโค่นยอดมวยโคราชลงได้ด้วยท่า “เสือลากหาง” จนได้รับการกล่าวขวัญไปทั่วสารทิศ ชัยชนะครั้งนั้นทำให้นายปล่องกลายเป็นนักมวยไชยาเพียงคนแรก และคนเดียวที่ได้รับบรรดาศักดิ์ “หมื่น” ด้วยทักษะความสามารถในเชิงมวย ซึ่งในประวัติศาสตร์มีนักมวยเพียง 3 ท่านเท่านั้นที่ได้รับ คือ แดง ไทยประเสริฐ นักมวยจากเมืองโคราชได้เป็น “หมื่นชงัดเชิงชก” นายกลิ้ง นักชกจากบ้านทะเลชุบศร เมืองลพบุรี ได้เป็น “หมื่นมือแม่นหมัด” และนายปล่อง จำนงทอง จากไชยาได้เป็น “หมื่นมวยมีชื่อ” นับเป็นประวัติศาสตร์ย่อหน้าสำคัญที่ถูกกล่าวขานในวงการมวยไทย สืบมา นอกเหนือไปจากหมื่นมวยมีชื่อแล้ว นักมวยไชยาฝีมือดี ที่โด่งดังในอดีตท่านอื่นๆก็มีอีกไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็น นายสอน ศักดิ์เพชร, นายนิล ปักษี, บุญส่ง เทพพิมล, พร้อม อินทร์อักษร, อินทร์ ศักดิ์เดช ฯลฯ

ในยุคของศาลาเก้าห้องนั้นเมืองไชยามีกองมวย ( ค่ายมวย ) สำคัญอยู่ 4 กอง แต่ละกองมีนายกอง 1 คน เปรียบได้กับ หัวหน้าคณะนักมวยได้แก่ กองมวยบ้านเวียง กองมวยบ้านปากท่อ กองมวยบ้านทุ่ง และกองมวยพุมเรียง นักมวยสมัยนั้นนับได้ว่าเป็นบุคคลอันมีเกียรติได้รันการยกย่องยอมรับในสังคมเป็นอย่างมาก จะเห็นได้จากสิทธิพิเศษหรือข้อยกเว้นต่างๆ ที่บรรดานักมวยในกองจะได้รับในขณะที่ราษฎรทั่วไปไม่มีสิทธิอาทิ กองมวยของหมื่นมวยมีชื่อจะได้รับอภิสิทธิ์สูงสุดคือ นักมวยในกองได้รับการยกเว้นภาษีทั้งหมด ส่วนกองมวยอื่นๆไม่ได้รับการยกเว้น ต้องเสียภาษีคนละ 4 บาท เหมือนบุคคลทั่วไป อีกประการคือ นักมวยที่อยู่ในกองมวยทุกกองได้รับการยกเว้นไม่ถูกเกณฑ์แรงงานใช้กำลังโยธาสร้างทางหรือสร้างสาธารณะสมบัติอื่นๆ เหมือนคนทั่วไป แต่ภารกิจของนักมวยจะต้องฟิตซ้อมเตรียมตัวให้พร้อมเสมอ เพื่อเดินทางไปชกที่ต่างๆ แล้วแต่ราชการจะมอบหมายโดย ได้รับค่าตอบแทนเป็นเบี้ยเลี้ยงในแต่ละครั้ง ตั้งแต่ 3 บาท 2 บาท 1 บาท จนถึง 50 สตางค์ ( สมัยนั้นเงินจำนวนนี้ถือว่ามากพอสมควร ) เช่น หมื่นมวยมีชื่อได้รับวันละ ภ บาท ในขณะที่นายกองคนอื่นได้ 2 บาท นักมวยคนสำคัญได้ 1 บาท ส่วนนักมวยสำรอง หรือรุ่นน้อง ได้คนละ 50 สตางค์ โดยเบี้ยเลี้ยงนี้จะได้รับจนกว่างานเลิก หรือถึงวันกลับ ด้วยเหตุนี้จึงเป็นแรงจูงใจสำคัญที่ทำให้เด็กหนุ่มจำนวนมาก ต้องการกรุยทางเข้าสู่อาชีพนักมวยให้ได้ เพราะนั่นหมายถึงเกียรติยศชื่อเสียงและเงินทอง ที่จะได้มาในชีวิต

งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา ภาษิตนี้ล้วนใช้ได้กับทุกยุคทุกสมัยและทุกเหตุการณ์ มวยไชยาก็เช่นเดียวกัน ภายหลังจากที่เมืองไชยาถูกผนวกรวมเข้ากับเมืองกาญจนดิษฐ์ ( สุราษฎร์ธานีในปัจจุบัน ) และมีการย้ายศาลากลางไปไว้ที่บ้านดอน เจ้าเมืองไชยาจึงได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองที่บ้านดอน ด้วยเหตุนี้เมืองไชยาจึงต้องไร้เจ้าเมือง เป็นผลสืบเนื่องให้การชกมวยที่ศาลาเก้าห้องต้องล้มเลิกลงไปด้วย แต่ไม่นานเท่าใดนัก มวยไชยาก็กลับมาเฟื่องฟูขึ้นอีกครั้ง ณ สนามมวยวัดพระบรมธาตุฯ

ในสมัยนั้นที่วัดพระบรมธาตุไชยาจะมีการจัดงานประจำปีในเดือน 6 ทุกปี การแข่งขันชกมวยจึงถูกกำหนดขึ้นในงานดังกล่าวด้วย การชกในครั้งแรกๆ ณ เวทีแห่งนี้ ไม่ต่างอะไรจากที่เวทีศาลาเก้าห้อง สังเวียนถูกกำหนดขึ้นปนลานดิน กฎกติกายังยึดถือตามแบบเดิม เพียงแต่ที่วัดพระบรมธาตุไชยานั้น มีการเก็บค่าเข้าชม เนื่องจากในช่วงนั้นกีฬามวยเริ่มเป็นที่นิยมแพร่หลายของประชาชนโดยทั่วไป จึงเป็นเหตุให้ในเวลาต่อมา พระครูโสภณเจตสิการาม เจ้าอาวาสวัด จึงดำริให้สร้างเวทีมวยขึ้นอย่างถาวร และเก็บค่าเข้าชมเพื่อนำมาทำนุบำรุงพัฒนาวัด เวทีมวยถาวรวัดพระบรมธาตุสร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2474 และมีนักมวยฝีมือดีจำนวนมาก ที่สร้างชื่อปรากฏแก่วงการบนเวทีแห่งนี้ไม่ว่าจะเป็น จำเริญ ทรงกิจรัตน์, โกต๊อง แก้วอำไพ, กลยุทธ ลูกสุรินทร์, บุญธรรม แสงสุเทพ, ไสว แสงจันทร์, เชิด จุฑาเพชร, ฯลฯ ส่วนค่ายมวยชื่อดังแห่งเมืองไชยาในยุคดังกล่าว ที่สมควรเอ่ยถึงก็ได้แก่ ค่าย ศ.ปักษี ผู้ก่อตั้งคือ นายนิล ปักษี นักมวยฝีมือเยี่ยม ลูกศิษย์พระยาไชยา ค่ายชัยภิรมย์ ผู้ก่อตั้งคือ นายนุ้ย อักษรชื่น ค่ายวงศ์ไชยา ผู้ก่อตั้งคือนายจ้อย เหล็กแท้ ลูกศิษย์ของนายนิล ปักษี คณะบำรุงหิรัญ นายจ้วน หิรัญกาญจน์ นักมวยเสื้อสามารถจากเวทีวัดพระบรมธาตุ เป็นผู้ก่อตั้ง

อย่างไรก็ตาม การชกมวย ณ เวทีวัดพระบรมธาตุ ก็ได้สิ้นสุดลงเมื่อหมดยุคของ พระครูโสภณเจตสิการาม เนื่องจากท่านพุทธทาส ภิกขุ ได้ขอให้ยกเลิกงานมหรสพทั้งหลาย รวมถึงการชกมวยประจำปีลงด้วย คงเหลือไว้แต่เพียงพิธีทางพุทธศาสนาเท่านั้น จนเมื่อเวทีมวยถาวรวัดพระบรมธาตุได้ถูกรื้อถอนออกเพื่อใช้เตรียมสถานที่รับเสด็จพระบรมโอรสาธิราช เมื่อครั้งยกพระสุวรรณฉัตรพระบรมธาตุไชยา เมื่อวันที่ 4 กันยายนพ.ศ. 2525 จึงนับเป็นการสิ้นสุดของยุคเวทีวัดพระบรมธาตุไชยาอย่างถาวร

หากจะเปรียบไป ความเจริญรุ่งเรืองของมวยไชยาก็เปรียบได้ดังพลุที่ถูกจุดแล้วพวยพุ่งขึ้นสู่ฟากฟ้าอย่างสว่างไสวก่อนที่จะลดต่ำแล้วดับลงอย่างรวดเร็วเช่นกัน ภายหลังหมดยุคศาลาเก้าห้องและการสิ้นสุดลงของเวทีวัดพระบรมธาตุ วงการมวยไชยาก็เสื่อมลงตามลำดับ สาเหตุการตกต่ำอย่างหนึ่งมาจากการมีธุรกิจการพนันเข้ามาเกี่ยวข้องกับการแข่งขันจนทำให้ฝีไม้ลายมือแท้ๆ ของนักมวยเริ่มตกต่ำลง มีหลายต่อหลายครั้งผลแพ้ชนะไม่ได้อยู่ที่ฝีมือของนักมวยจริงๆ ทำให้ผู้ที่ศรัทธาและสนใจในศิลปะของมวยไชยาเริ่มเบื่อหน่ายและเลิกให้ความสนใจ เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงเป็นผลให้เวทีชกต่างๆลดน้อยลงไปทั้งงานวัด สวนสนุก งานประจำปี รวมถึงเวทีถาวรประจำเมืองใหญ่ๆ ก็สูญสิ้นไปหมดเพราะไม่มีคนดู ค่ายมวยที่ยังมีอยู่ก็เริ่มเปลี่ยนแนวทาง ไม่ได้ถ่ายทอดมวยตำรับไชยาดั้งเดิมแต่อย่างใด จนกล่าวได้ว่าทุกวันนี้เมืองไชยาไม่หลงเหลือมวยไชยาแท้ๆ อยู่อีกต่อไปแล้ว ไม่ต่างจากพุทธศาสนาที่กำเนิดขึ้น ณ อินเดีย แล้วเผยแพร่ไปยังดินแดนต่างๆ แต่ทุกวันนี้ พุทธศาสนาที่อินเดียกลับไม่หลงเหลืออยู่แล้วเช่นกัน

จุดเริ่มต้นของมวยไชยา

มวยไชยาคือ มวยที่คาดหมัดสั้นที่สุด เพียงประมาณข้อมือ อันจัดเป็นมวยปักษ์ใต้ เพราะต้องการอาศัยกระดูกตานกแก้วที่ข้อมือเป็นอาวุธสำหรับเฆี่ยนแขน ตัดกำลังคู่ต่อสู้ และเพื่อใช้ศอกได้ว่องไว มีคำกล่าวผูกเป็นกลอนว่า “หมัดดีโคราช ฉลาดลพบุรี ท่าดีไชยา” จะเห็นได้ว่าผู้ที่เป็นนักมวยในสมัยนั้น ได้รับการยกย่องมากเพราะบ้านเมืองสนับสนุนและเมืองที่มีมวยฝีมือดีก็จะได้รับการยกย่องให้เป็น“เมืองมวย” มวยไชยา นั้นเป็นที่นิยมแพร่หลาย ในเขตภาคใต้ตั้งแต่ ชุมพร หลังสวนลงมาโดยมีเมืองไชยาเป็นศูนย์กลาง และยังมีครูมวยอีกหลายท่านที่มีชื่อเสียงมากมาย ได้แก่

ภาพ:Pohthanma.gif

พ่อท่านมา (หลวงพ่อมา เจ้าอาวาสวัดทุ่งจับช้าง เมืองไชยา)

ภาพ:Phrayawajee.gif

พระยาวจีสัตยารักษ์ (เจ้าเมืองไชยา)

ภาพ:Kimseng.gif

อาจารย์ กิมเส็ง (สุนทร ทวีสิทธิ์)

ภาพ:Krukate.gif

ปรมาจารย์ เขตร ศรียาภัย

ภาพ:พัพั.gif

ครูทอง เชื้อไชยา (ทองหล่อ ยาและ)

                  มวยไชยาเป็นกีฬาที่เป็นศิลปะป้องกันตัวที่มีชื่อเสียงมากประจำถิ่นอำเภอไชยาเคยมีชื่อเสียงโด่งดังมานานพอ ๆ กับมวยลพบุรีและมวยโคราช มวยไชยาเริ่มมีขึ้นที่ตำบลพุมเรียง โดย “ท่านมา” ซึ่งเป็นชาวกรุงเทพฯได้บวชและเป็นสมภารที่วัดทุ่งจับช้างท่านเป็นผู้ดำเนินการฝึกซ้อมศิลปะมวยไทยให้แก่ชาวไชยามวยไชยารุ่งเรืองมากในสมัยรัชกาลที่ 5-6ทั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากพระยาวจีสัตยารักษ์ (ขำ ศรียาภัย) เจ้าเมืองไชยาและชื่น ศรียาภัย ผู้เป็นธิดา

                 ในสมัยนั้นมวยไชยาได้ไปชกถวายหน้าพระที่นั่งหลายครั้ง ต่อมาก็มีค่ายมวยเกิดขึ้นมากมายเวทีมวยที่วัดพระบรมธาตุไชยาเป็นสนามมวยที่มีชื่อเสียงมากที่สุดหลังจากเวทีมวยนี้ล้มเลิกไปวงการมวยไชยาก็เริ่มเสื่อมหายไป

การชกมวยไชยามีการชก 5 ยก ใช้ยกเวียน

คือ มวยคู่ที่ 1 ขึ้นชกเมื่อหมดยกก็กลับเข้าพุ่ม (ที่พักนักมวย) ให้คู่ที่ 2 ขึ้นชกเป็นเช่นนี้จนถึงคู่สุดท้ายแล้วเวียนมาให้มวยคู่ที่ 1 ขึ้นชกยกที่ 2ทำเช่นนี้จนครบ 5 ยกในการชกหรือต่อสู้อนุญาตให้ใช้ทุกรูปแบบคือนอกจากจะเตะ ต่อย ศอก ถอง แล้วให้ใช้หัวขวิด ปากกัด มือตะปบ จับหัก ควักนัยน์ตา ก็ได้ ปัจจุบันมวยไชยาซบเซาลงไปมากครูมวยที่มีชื่อของเมืองไชยาก็เหลือน้อยลงไปทุกทีมวยรุ่นใหม่ของไชยาก็มุ่งหัดชกมวยโดยขาดความรักในเชิงกีฬาอันเป็นศิลปะป้องกันตัวจึงทำให้มวยไชยาคงจะเหลือเพียงชื่อในอนาคตอันใกล้นี้

ศาสตร์เเห่งมวยไชยา

มวยไทยไชยา เป็นมวยที่มีลีลางดงามแต่แฝงไปด้วยอวัยวุธที่เฉียบคมรวดเร็ว แตกต่างจากมวยไทยในปัจจุบันนี้อย่างมากมาย นอกจากลีลาที่งดงามแล้ว มวยไทยไชยายังประกอบด้วยวิชาการต่อสู้ที่สามารถกระทำได้แม้ว่าในขณะพลาดล้มลง (การต่อสู้บนพื้น) จากการต่อสู้ ซึ่งในวิชาพาหุยุทธ์มวยไทยไชยานี้ไม่ได้มีแค่อวัยวุธ หมัด เท้า เข่า ศอกเท่านั้น แต่ยังจะมีวิชาที่ผสมผสานกับอวัยวุธอย่างกลมกลืนจากการ จับ ล็อค หัก ด้วยวิชา ทุ่มทับจับหัก ล้มลุกคลุกคลาน ประกบประกับจับรั้ง และอื่นๆอีกมากมายที่เราท่านทั้งหลายไม่ค่อยพบเห็นกันในปัจจุบันนี้

การแต่งกายของนักมวย

ภาพ:Ffffff4.jpg

                  นักมวยนุ่งกางเกงขาก๊วย ไม่ใส่เสื้อ ใช้ผ้ามวนพันหุ้มแทนกระจับเรียกโละโปะ หรือลูกโปก ไม่ใส่นวม แต่ใช้ด้ายดิบพันมือ สวมมงคลแม้ในขณะชก

กติกา

การชกแบ่งเป็น 5 ยกแบบยกเวียน คือคู่ที่ 1 ชกชกยก 1 เสร็จแล้วเข้าพัก คู่ 2 ขึ้นชกยก 2 ต่อ จนครบทุกคู่ แล้วคู่ 1 จึงขึ้นชกยก 2 ต่อไปจนครบ 5 ยกทุกคู่ คู่ไหนแพ้ชนะก่อนครบยกก็ตัดออกไป

การฝึกมวยไชยา

การเรียนการสอนของมวยไทยไชยานั้นจะเป็นระเบียบระบบแบบโบราณ นักเรียนจะได้เรียนตั้งแต่พื้นฐานวิชา เรียนการป้องกันตัว ” ป้อง ปัด ปิด เปิด ” จนสามารถป้องกันการโจมตีได้อย่างมั่นใจแล้ว ลูกไม้มวยไทยต่าง ๆ ก็จะค่อยได้เรียนรู้ แตกต่างจากมวยไทยกระแสหลักที่ฝึกฝนการโจมตี เตะ ต่อย ทำลาย โดยอาศัยความทนทานเข้ารับลูกเตะต่อยของคู่ต่อสู้ ดั่งที่ครูแห่งมวยไทยไชยานี้ยืนยันอย่างชัดเจนว่า ศิลปะการป้องกันตัวย่อมต้องป้องกันตัวได้จริง

       การฝึกมวยไชยา 5 ขั้นตอน

1.พื้นฐานมวยไทยไชยาเบื้องต้น (Basic MUAYCHAIYA) หลักการมวยไชยา ท่าฝึกเบื้องต้น การจรดมวย

2.พื้นฐานการเคลื่อนไหว (Basic Movement) ท่าเคลื่อนไหวพื้นฐาน ย่างสามขุม บุก หลบหลีก ล่อหลอก

3. พื้นฐานการใช้อาวุธ (Basic Offence) การออกอาวุธ หมัด เท้า ศอก เข่า แขน แข้ง ขา

4. พื้นฐานการป้องกัน (Basic Defense) การป้องกันอาวุธ ป้อง ปัด ปิด เปิด

5. การป้องกันตัวในสถานการณ์ต่าง ๆ (Practical Situation Self Defense) การป้องกันตัวในสถานการณ์คับขัน การเอาตัวรอดจากการถูกล็อค หรือถูกประทุษร้ายในลักษณะต่าง ๆ

ใส่ความเห็น